พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกสินารายณ์

. . . . . . . . .พิพิธภัณฑ์ชุมชนสระโกสินารายณ์ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 19 ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี  ก่อสร้างขึ้นโดยเทศบาลเมืองท่าผา  เปิดให้เข้าชมครั้งแรกปี 2557  สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ห้องสมุดสำหรับผู้ต้องการศึกษา และแหล่งท่องเที่ยวสำหรับประชาชน ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองโกสินารายณ์ หรือในอดีตสันนิษฐานว่าเป็น  ศมฺพูกกฏฏนมฺ หรือ ศัมพูกปัฏฏนะ  เป็นเมืองในอดีต สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นอกจากนี้ภายในยังจัดแสดงเกี่ยวกับอารยธรรมเขมรในลุ่มน้ำแม่กลอง และเหตุการณ์ที่สระโกสินารายณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมฟรี วันพุธ – อาทิตย์ ระหว่างเวลา 10:00 – 16:00 น. หยุดทำการวันจันทร์ – อังคาร  การเดินทาง : จากสี่แยกแสงชูโต อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มุ่งหน้าไปทางจังหวัดกาญจนบุรีบนถนนแสงชูโต มาประมาณ 4 กม. เลี้ยวขวาตรงจุดกลับรถมุ่งหน้าไปโรงงาน SCG  จากนั้นเมื่อข้ามสะพานคลองชลประทานให้ชิดซ้ายและเข้าซอยทางซ้ายมือข้างโรงงาน SCG  ขับเลียบกำแพงมา  เลี้ยวขวาตามทางโค้งจะเห็นซุ้มประตูทางเข้าสระโกสินารายณ์  ติดต่อสอบถามโทร. 032-302-117 ต่อ 334

. . . .สระโกสินารายณ์  เป็นโบราณสถาณอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17  ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ในบริเวณใกล้เคียงกับเมืองโบราณสระโกสินารายณ์  ปรากฏหลักฐานว่าได้เริ่มมีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยแล้ว  เมื่อประมาณ 3,000 ปี มาแล้ว  เช่น บริเวณเขาสะพายแร้ง  ตั้งอยู่ห่างจากเมืองโบราณสระโกสินารายณ์  ไปทางทิศหนือประมาณ  10 กิโลเมตร  พบหลักฐานคือ  ขวานหิน ภาชนะดินเผา และกลองมโหระทึกเป็นต้น

♦  สระโกสินารายณ์  มีชื่อที่มาจากข้อสันนิษฐานต่างๆ บ้างกล่าวว่า “ในสระน้ำมีพระนาราย  หรือ เป็นสระน้ำของพระนารายณ์”
บ้างก็กล่าวว่า “สระโกสินารายณ์น่าจะเป็นคำที่แผลงมาจากภาษาเขมร คือ บาราย  ที่แปลว่าสระน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ”

♦  หลักฐานที่กล่าวถึงเมืองโกสินารายณ์ที่เก่าแก่ที่สุด  ปรากฏอยู่ในนิราศพระแท่นดงรัง  ของเสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตร) กวีในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่งขึ้นในราว พ.ศ. 2379 (หมื่นพรหมสมพัตร.2504) ช่วงที่ท่านเดินทางผ่านเขตบ้านโป่งเข้าสู่พระแท่นดงรังบรรยายถึงอดีตของบ้านเมืองแถบนี้ว่าเดิมชื่อกรุงโกสินารายณ์ เป็นเมืองของพระยามลราช ดังต่อไปนี้

…โอ้พระแท่นแผ่นผาอยู่ป่าดอน

ชื่อกรุงโกสินารายณ์สบายนัก  

ทั้งแก้วแหวนเงินทองก็นองเนือง   

มีสวนแก้วอุทยานสำราญรื่น 

ปลูกไม้รังตั้งแท่นแผ่นศิลา  

ของพระยามลราชประสาทไว้     

ที่สำคัญมั่นหมายหลายประการ 

แต่บ้านเรือนสูญหายกลายเป็นป่า   

พระอุทยานร้างราเป็นป่ารัง  

แต่ปางก่อนที่นี่เป็นที่เมือง

เป็นเอกอัครออกชื่อย่อมลือเลื่อง

ไม่ฝืดเคืองสมบัติกษัตรา

ดูดาษดื่นดอกดวงพวงบุปผา

คือแผ่นผาอันนี้ท่านนิพพาน

ย่อมแจ้งใจทุกประเทศเขตต์สถาน

สมนิพพานเรื่องเทศน์สังเกตฟัง

พยัคฆาอาศัยดังใจหวัง

อนิจจังอนาถจิตต์อนิจจา

. . . .ศมฺพูกกฏฏนมฺ หรือ ศัมพูกปัฏฏนะ  สันนิษฐานว่าคือ เมืองสระโกสินารายณ์ในปัจจุบัน  คำว่า “ศามพูกะ” เป็นชื่อเมืองหนึ่งปรากฏอยู่ในจารึกฐานพระพุทธรูปยืน รูปกลีบบัว สมัยทราวดี  พบที่วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี  อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ได้กล่าวว่า  ” นายก อารุชวะ เป็นอธิบดีแห่งชาวเมืองตังคุระ  และเป็นโอรสของพระราชาแห่งศามพูกะได้สร้างรูปพระมุณีองค์นี้

. . . .ในเวลานั้นนักวิชาการสันนิษฐานว่า  เมืองศามพูกะ  น่าจะเป็นบ้านเมืองที่อยู่ในเขตภาคกลางของประเทศไทย  ในเวลาต่อมาชื่อเมืองนี้ในจารึกปราสาทพระขรรค์  ในจารึกกล่าวว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้สร้างรูปพระรัตนตรัยระบุชื่อเมืองว่า “ศมฺพูกกฏฏนมฺ” โดยจารึกปราสาทพระขรรค์มี 4 ด้าน ด้านละ 72 บรรทัด  ข้อความในจารึกเป็นภาษาสันสกฤต  แต่งเป็นโศลกมีข้อความกล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัย สรรเสริญพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระราชประวัติกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่พระจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้าง ข้อความที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยคือ ในด้านที่ 3 ตอนที่กล่าวถึงการสร้างพระพุทธชัยมหานาถแล้วพระราชทานให้เมืองต่างๆ 23 แห่งในจำนวนนี้มีบางเมืองที่นักวิชาการบางส่วนสันนิษฐานว่าอยู่ในบริเวณลุ่มภาคกลางของประเทศไทย

ซึ่งชื่อเมืองต่างๆ ที่ปรากฏในจารึกนั้นมีข้อสันนิษฐานตามหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏดังนี้

  • ลโวทยปุรํ สันนิษฐานว่าคือ เมืองลพบุรี
  • สุวรรฺณปุรํ  สันนิษฐานว่าคือ  เมืองสุพรรณบุรี
  • ศมฺพูกปฏฏนมฺ  สันนิษฐานว่าคือ  เมืองสระโกสินารายณ์
  • ชยราชบุรี  สันนิษฐานว่าคือ  เมืองราชบุรี
  • ศฺรีชยสีหปุรี  สันนิษฐานว่าคือ  เมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี
  • ศฺรีชยวชฺรปุรี  สันนิษฐานว่าคือ  เมืองเพชรบุรี
    (หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, 2509-56)

ศมฺพูก  อ่านว่า สัม-พู-กะ  เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า  หอยสังข์  มีความหมายเหมือนกับ  กัมพู,กำพู และกำภู (ราชบัณทิตยสถาน, 2554)

. . . .ในการสัมภาษณ์  ดร.บำรุง ชำนาญเรือ (อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาหลักสูตรและวิธีสอน สาชาวิชาการสอนภาษาไทย)  ท่านได้กล่าวว่า  ” ศมฺวูกปฏฏนมฺ  มีความหมายเดียวกับคำ  ศมฺพูกกฏฏนมฺ  เพราะในภาษาสันสกฤต  เสียง ว กับ  พ  ออกแทนกันได้”  ปฏฏนมฺ  อ่านว่า  ปัด-ตะ-นัม  บ้างก็ออกเสียงเป็น ปัด-ตะ-นะ  แปลว่า แผ่นดิน หรือ ท่าเรือ

. . . .รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถาน บริเวณสระโกสินารายณ์ (2509:  35-45)  กล่าวว่าการขุดแต่งโบราณสถานบริเวณสระโกสินารายณ์  เริ่มจากหนังสือของผู้ว่าราชการจังหวัดลงวันที่ 1 ธันวาคม 2508  ว่าพบอิฐโบราณเป็นจำนวนมากบริเวณที่ดินของนายนคร  ลิ้มประเสริฐศักดิ์  ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของสระโกสินารายณ์  และมีผู้พบเศียรพระพุทธรูปและเทวรูป  รวมถึงพระพิมพ์บริเวณรอบสระโกสินารายณ์ กรมศิลปากรจึงส่งนายมานิต วัลลิโภดม กับนายจำรัส เกียรติก้อง ไปสำรวจสภาพก่อนการขุดแต่งโบราณสถาน  ต่อมาจึงมอบหมายให้นายตรี  อมาตยกุล  เป็นผู้ควบคุมและอำนวยการขุดแต่งและขุดค้น  นายจำรัส  เกียรติก้อง เป็นผู้ชวยทำแผนผัง  นายหวัน แจ่มวิมล  เป็นนายงาน  นายสมชาย  พุ่มสะอาด  เป็นผู้จดรายการสิ่งของที่ขุดได้พร้อมถ่ายรูป  และขอให้นายอำเภอบ้านโป่งช่วยจัดจ้างคนงานคนงานโดยคัดเลือกจ้างจากชาวบ้านที่ตำบลท่าผา จำนวน 20 คน  การขุดแต่งเริ่มในวันที่  11 กุมภาพันธ์  2509  โดยถางพงหญ้าเริ่มเตรียมพื้นที่สำหรับการขุดแต่ง  เมื่อถางหญ้าออกเรียบร้อยแล้วทำให้เห็นสภาพเนินโบราณสถานเป็นรูปกากบาท  คล้ายเป็นมุข  4  ทิศ  ต่อมาวันที่  15 กุมภาพันธ์  2509  เริ่มขุดบริเวณระหว่างมุขด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกพบศิลาแลงที่สลายตัวผุพัง  ไม่เป็นแท่ง  ต่อมาได้ขุดตรวจบริเวณกลางเนิน  ซึ่งเคยมีผู้ลักลอบขุดแล้ว  เมื่อขุดลึก 6 เมตร  พบกระโหลกศีรษะจระเข้และกระดองเต่า  จากนั้นเมื่อขุดลึกลงไปอีกพบฐานเทวรูปทำจากหินทราย

. . . .นอกจากนั้นการขุดตรวจครั้งนี้พบหินทรายแดงไม่สลักลวดลายหลายแห่ง  ขนาดยาวประมาณ  100 – 180 เซนติเมตร  กว้าง  45 – 50 เซนติเมตร  สันนิษฐานว่า  เป็นกรอบประตูกลีบขนุน  หินทรายแดง  1  ชิ้น สลักรูปพระพุทธประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว  ชิ้นส่วนพระกร  5  พระกร  ทำจากินทรายแดง ถือดอกบัว  คัมภีร์  ลูกประคำ  เป็นต้น  จึงสันนิษฐานว่าเป็นพระกรของพระโพธิสัตว์  พระบาทบนแท่นฐานทำจากหินปูนสีเขียว  เศียรพระโพธิสัตว์หินทรายสีแดงลวยลายปูนปั้นรูปแบบศิลปะอิทธิพลเขมรจำนวนมาก  และโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่สุดในการขุดแต่งในครั้งนี้คือ  ส่วนพระวรกายของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี  ทำจากหินปูนสีเขียวมีความสูงประมาณ 1.15 เมตร  พบบริเวณระหว่างมุมด้านตะวันออกและด้านใต้  จากนั้นได้ขุดเลาะชายเนินไปทางด้านทิศตะวันตกได้พบฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ทำจากหินทรายสีแดง 2 ชิ้น กว้าง  135 เซนติเมตร  สูง  45 เซนติเมตร  และกว้าง  60 เซนติเมตร  สูง  35 เซนติเมตร

. . . .จากการสำรวจและทำแผนผังเมืองของนายตรี  อมาตยกุล  หัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ และนายจำรัส เกียรติก้อง  ช่างศิลปะเอกกองโบราณคดี  ในปี  พ.ศ. 2509 ทำให้ทราบว่าเมืองโบราณสระโกสินารายณ์  มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม  กว้างยาวด้านละ  960  เมตร  มีคูน้ำและคันดินโดยรอบ  คูน้ำนั้นตื้นเขินหมดแล้ว  ส่วนคันดินสูงจากระดับพื้นประมาณ 60  เซนติเมตร   กว้างประมาณ  10 เมตร  พบโบราณสถานก่อด้วยอิฐทั้งในเมืองและนอกเมืองหลายแห่งแต่ได้ถูกขุดทำลายลงเกือบทั้งหมดเหลือแต่เพียงฐานและเศษซากอิฐเป็นกองๆ ภายในกำแพงเมืองมีสระน้ำหลายสระ  เช่น  สระนาค  สระจระเข้  สระจอก  สระแก้ว  และสระมังกร  ส่วนสระนาคนั้นมีลำคลองเล็กๆ  เชื่อมกับแม่น้ำแม่กลอง

. . . .พิพิธภัณฑ์ชุมชนสระโกสินารายณ์ ก่อสร้างใช้งบประมาณโครงการตามแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดราชบุรี ประจำปีงบประมาณ 2555 ประสานงบประมาณในการก่อสร้างโดย คุณชะวรลัทธิ์ ชินธรรมมิตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 จังหวัดราชบุรี โดยการก่อสร้างเฉพาะตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ และในปีงบประมาณ 2556 ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจสำหรับพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรณีเร่งด่วนในการดำเนินการตามโครงการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกสินารายณ์ โดยมีห้องจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่ค้นพบ ณ โบราณสถานสระโกสินารายณ์ ประสานงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าวโดย คุณทรงยศ อรัญยกานนท์ นายกเทศมนตรีเมืองท่าผาในปัจจุบัน โดยเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกสินารายณ์ เมื่อ วันที่ 22 สิงหาคม 2557  สถิติปัจจุบัน ณ วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน 2559 มีประชาชนเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกสินารายณ์แล้วจำนวนทั้งสิ้น 48,590 คน

. . . .ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองโกสินารายณ์ และสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ของตำบลท่าผา แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 แรกรับวัฒนธรรมราว

. . . .3,000ปีมาแล้ว ในบริเวณใกล้เคียงกับเมืองโกสินารายณ์ พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ ต่อมาจึงพบหลักฐานแสดงถึงการติดต่อรับวัฒนธรรมจากภายนอกภูมิภาค

ส่วนที่ 2 อารยธรรมเขมรในลุ่มน้ำแม่กลอง

. . . .อารยธรรมเขมร แผ่อิทธิพลครอบคลุมถึงบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลองทางภูมิภาควันตกของประเทศไทย

ส่วนที่ 3 เมืองโกสินารายณ์

. . . .ชื่อเมืองศมวกปฏฏนม ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์เมื่อราวแปดร้อยกว่าปีมาแล้วและที่ตั้งของเมืองยังคงเป็นปริศนา จนกระทั่งในพ.ศ.๒๕๐๙ การขุดค้นโบราณสถานจอมปราสาทกลางเมืองโกสินารายณ์ พบหลักฐานสำคัญหลายชิ้น อาทิเช่น กรอบประตูหินทรายสีแดงกลีบขนุนสลักรูปพระพุทธรูป เศียรพระโพธิสัตว์และส่วนพระวรกายพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี เป็นต้น แต่ยังมีข้อสันนิษฐานอีกหลายประการรอการปรากฎของหลักฐาน

ส่วนที่ 4 โกสินารายณ์สมัยอยุธยาและสมัยมณฑลราชบุรี

. . . .ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยามีการเปลี่ยนที่ตั้งเมืองหลวงมาเป็นกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์นโยบายการปกครองและการย้ายเมืองท่า ส่งผลให้เมืองโกสินารายณ์ ที่ตั้งอยู่ด้านในของแม่น้ำแม่กลองหมดความสำคัญ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การแบ่งส่วนการปกครองเป็นมณฑลราชบุรีและการสร้างเส้นทางรถไฟส่งผลให้ความเจริญเริ่มกลับคืนสู่ตำบลท่าผาอีกครั้ง

ส่วนที่ 5 สายน้ำแห่งศรัทธา

. . . .ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสระโกสินารายณ์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๐ ๘ เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำรักษาโรค ตลอดจนความศักดิ์สิทธิ์ของทุกสรรพสิ่งที่สถิตอยู่ในสระโกสินารายณ์จนเกิดเป็นเรื่องเล่าตำนานต่างๆ บางตำนานปรากฎหลักฐานให้เห็นจนทุกวันนี้ เช่น เรื่องปลาตะเพียนยักษ์ เป็นต้น